ประวัติ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นศิษย์อาวุโสรุ่นแรกสุดของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายอาริยะวาสีในยุคปัจจุบัน พระเถระที่เป็นสหมิตรและมีอายุรุ่นเดียวกันกับหลวงปู่ดูลย์ ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา และหลวงปู่ขาว
อนาลโย วัดถ้ำกองเพล จังหวัดอุดรธานี ด้วยความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงมีศิษย์สำคัญๆ หลายองค์ ศิษย์รุ่นแรกๆ ก็มี “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร “หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ” วัดป่านิโกรธาราม จังหวัดอุดรธานี “หลวงปู่สาม อกิญจโน” วัดป่าไตรวิเวก จังหวัดสุรินทร์ และพระเทพสุธาจารย์ (หลวงปู่ชาติ คุณสมฺปนฺโน) วัดชิราลงกรณ์ อำเภอปากช่อง นครราชสีมา สำหรับศิษย์อาวุโสของหลวงปู่ดุลย์ ได้แก่ พระวิสุทธิธรรมรังสี (หลวงพ่อเปลี่ยน โอรโส) วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ หลวงพ่อสุวรรณ สุดใจ วัดถ้ำศรีแก้ว จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นพระอริยะเจ้าที่มีคุณธรรมล้ำลึก ท่านเน้นการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาสั่งสอน สำหรับพระสงฆ์และญาติโยมที่เข้าไปกราบนมัสการและขอฟังธรรม หลวงปู่มักจะให้ธรรมะสั้นๆ แต่มีความล้ำลึกสูงชั้นเสมอ ท่านเทศน์เรื่อง “จิต” เพียงอย่างเดียว โดยจะย้ำให้เรา “พิจารณาในจิต” อยู่เสมอ
หลวงปู่ดูลย์ เกิดปีชวด วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2431 ที่บ้านปราสาท ต. เฉนียง จ.สุรินทร์ โดยมีท่านพระครูวิมลศีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพรรษาที่ 6 หลวงปู่ได้เดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดอุบลราชธานี พำนักอยู่ที่วัดสุปัฎนาราม เพื่อเรียนปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี แล้วเรียนบาลีไวยากรณ์ต่อ ถึงแปล
ลมูลกัจจายน์ได้
“หลวงปู่” ได้รู้จักชอบพอกับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามของแม่ทัพใหญ่แห่ง “กองทัพธรรม” ในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทำการเผยแผ่ธรรมะในสาย “พุทโธ” จนแพร่หลายมาตราบนานเท่าทุกวันนี้ ในปีที่ 2 ที่หลวงปู่ไปพำนักอยู่ที่อุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์และหลวงปู่สิงห์ สองสหายผู้ใคร่ธรรม ได้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมของพระอาจารย์ใหญ่ และเกิดความอัศจรรย์ใจและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจ เลิกละการเรียนด้านปริยัติธรรมะ แล้วออกธุดงค์ ตามหลวงปู่มั่นไปในที่ต่างๆ อยู่นานปี
“หลวงปู่ดูลย์” เที่ยวเดินธุดงค์หาความวิเวกตามป่าเขานานถึง 19 ปี จึงได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการคณะสงฆ์ให้หลวงปู่เดินทางไปประจำอยู่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม และเผยแพร่ข้อปฏิบัติ
ทางกัมมัฎฐานไปด้วยกัน หลวงปู่จึงได้ไปพำนักอยู่ประจำที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2477 จนบั้นปลายชีวิตของท่าน
นับตั้งแต่บัดนั้นมา “แสงแห่งรัศมีของพระธรรม” ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติ ก็เริ่มฉายแสงรุ่งเรืองตลอดมา โดยหลวงปู่มีภาระทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มกำลังสามารถ ในปฏิบัติส่วนตัวของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งกิจธุดงค์บำเพ็ญเพียรทางใจอย่างสม่ำเสมอตลอดมา ด้วยเหตุที่หลวงปู่มีเมตตาธรรมสูงจึงช่วยสงเคราะห์บุคคลทั่วไปได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
“หลวงปู่” มีสุขภาพดีอย่างยิ่ง แข็งแรง ว่องไว ผิวพรรณแจ่มใส มีเมตตาเป็นอารมณ์ สงบเสงี่ยม เยือกเย็นทำให้ผู้ใกล้ชิด และผู้ได้กราบไหว้ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสนิทใจ
ทางวาจา ท่านเสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรง ปราศจากมารยาทางคำพูด คือ ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดโอ๋ ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่คิดนินทา ไม่พูดขอร้อง ขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน ไม่พูดเล่านิทานตลกหรือนิทานปรัมปรา เป็นต้น
ทางใจ ท่านมีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดก็จะทำจนสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเยือกเย็น อดทน ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงความฮึดฮัด หงุดหงิด หรือรำคาญ
ไม่แสวงหาทองเพื่อสั่งสม หรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหายไป ไม่ประมาท
รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะ และเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่หลั่งไหลไปตามเหตุการณ์ และเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ ท่านสอนอยู่เสมอว่า “ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้งว่า เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง สลายไป อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ”
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยเจ้าผู้ประเสริฐได้ละเสียซึ่งสังขารเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2526 สิริรวมอายุได้ 96 ปี กับ 26 วัน พระอรหันต์ธาตุของท่านได้เก็บรักษาไว้ให้สาธุชนได้สักการะที่ “พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน” ในวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
ส่วนคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งเป็นคำสอนสั้นๆ และเฉียบคมล้ำลึกนั้น ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนีได้รวบรวมและพิมพ์ไว้ในหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” หลวงปู่เน้นเรื่อง “การปฏิบัติภาวนา” ให้พิจารณา “จิตใจจิตจนรู้แจ้ง” ท่านเทศนาเพียงสั้นแต่เฉียบคม ท่านสอนว่า… “หลักธรรมที่แท้จริง ‘จิต’ ของเราทุกคนนั้นแหละ คือหลักธรรมสูงสุด ที่อยู่ใน ‘จิต’ เรา นอกนั้นแล้วมันไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย ของให้เลิก ละ การคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น จิตในจิตจะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในทุกคน
ข้อมูลจาก : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2756187
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น