แนวทางปฏิบัติธรรมของหลวงปูดุลย์ อตุโล
หลวงปู่ท่านเน้นให้ศึกษาที่จิต อริยสัจสี่นั้นสามารถรู้เห็นและเข้าใจได้ด้วยการศึกษาจิตของตนเอง ศีลคือความเป็นปรกติธรรมดาของจิตที่ไม่ถูกสภาวะใดๆครอบงำ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต และปัญญาความรอบรู้ของจิตพระธรรมทั้งปวงสามารถเรียนรู้ได้ที่จิตของตนเอง
วิธีการดูจิต
การเตรียมความพร้อมของจิต จิตที่จะเจริญวิปัสสนาได้นั้นจะต้องมีความสงบตั้งมั่นของจิตเป็นฐานเสียก่อน จิตจะได้ไม่ถูกกิเลสครอบงำ จนไม่สามารถเห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริงได้ ท่านสอนให้เจริญพุทธานุสติบริกรรม "พุทโธ" ควบด้วยการทำอานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าบริกรรม "พุท" หายใจออกบริกรรม "โธ"
เคล็ดลับในการทำความสงบ ในเวลาทำความสงบนั้น ท่านให้ทำความสงบจริงๆ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องการเจริญปัญญา ให้รู้คำบริกรรมหรือกำหนดลมหายใจไปเรื่อยๆ ตามสบาย อย่าอยากหรือจงใจให้จิตสงบ เพราะธรรมชาติของจิตนั้น จะไปบังคับให้สงบไม่ได้ ยิ่งพยายามให้สงบกลับยิ่งจะฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตสงบแล้วจิตจะทิ้งคำบริกรรม ก็ไม่ต้องนึกหาคำบริกรรมอีก แต่ให้รู้อยู่ตรงความรู้สึกที่สงบนั้น จนกว่าจิตจะถอนออกมาสู่ความเป็นปรกติด้วยตัวของมันเอง
การแยกจิตผู้รู้กับอารมณ์ที่ถูกจิตรู้ เมื่อจิตรวมสงบทิ้งคำบริกรรมไปแล้ว ท่านให้สังเกตอยู่ที่ความสงบนั้นเองและสังเกตต่อไปว่า ความสงบนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น จิตคือตัวผู้รู้ ผู้ดูอยู่นั้น มีอยู่ต่างหาก สรุปคือ ท่านสอนให้แยกจิตผู้รู้ออกจากอารมณ์ที่ถูกรู้
บางคนไม่สามารถทำความสงบด้วยคำบริกรรม หรือด้วยกรรมฐานอย่างอื่น ก็อาจจะใช้วิธีอื่นในการแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เช่นนึกถึงบทสวดมนต์บทใดบทหนึ่งก็ได้ที่คุ้นเคย แล้วสวดบทสวดมนต์นั้นในใจ จากนั้นจึงลองดูบทสวดที่ถูกรู้ด้วยการสวดอยู่นั้นมี ผู้รู้อยู่ต่างหาก
การเจริญสติและสัมปชัญญะ ให้ทำความรู้ตัวอยู่กับที่จิตผู้รู้อย่างสบายๆ ไม่เพ่งจ้อง ควานหา หรือค้นคว้า พิจารณาเข้าไปที่จิตผู้รู้ เพียงแค่รู้อยู่เฉยๆ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมีความคิดนึกปรุงแต่งอื่นๆเกิดขึ้นมา ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ชัดเจน หากมีตัวรู้ไปเรื่อยๆ สิ่งใดเป็นอารมณ์ปรากฏขึ้นกับจิต ก็ให้มีสติรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏขึ้น โดยไม่เผลอส่งจิตเข้าไปในอารมณ์นั้น ตรงที่จิตไม่เผลอส่งจิตออกไปนั้นเอง คือ สติและสัมปชัญญะ
ดูจิตแล้วรู้อารมณ์อะไรบ้าง การที่เราเฝ้าดูจิตผู้รู้ไปเรื่อยๆ นั้น เราสามารถรู้อารมณ์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาว่าอารมณ์ตัวไหนเด่นชัดสุด ดังนั้น เราสามารถเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้
การดูจิตจะเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา สามารถรู้ได้ด้วยอาการที่ดำเนินไปของจิตในขณะนั้นๆ คือ ถ้าขณะใดจิตมีสติรู้อารมณ์อันเดียวต่อเนื่องกันไม่ขาดสายนั้นเป็นสมถะ และเมื่อทำไปจนจิตไปจับอารมณ์นั้นเองโดยไม่ต้องบังคับควบคุม จิตรู้อารมณ์นั้นอย่างเดียวจนเกิดความสุขสงบ นั้นคือ ฌานอันเป็นผลของการทำสมถะ
เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติมีสติรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏและมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้แยกออกจากกันแล้ว ตามเห็นสภาวะความเป็นจริง อันนั้นคือ การทำวิปัสสนา เมื่อถึงจุดหนึ่งจิตจะไม่จงใจรู้อารมณ์และไม่จงใจประคองผู้รู้ แต่สามารถเจริญสติสัมปชัญญะได้เอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น