การถวายของแด่พระภิกษุสงฆ์
การทำบุญทำกุศลตามหลักพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องเหมาะสมแก่กาละเทศะนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ในเรื่องกาลิกทั้ง ๔ อย่าง ได้แก่ ยาวะกาลิก ยามะกาลิก สัตตาหะกาลิก และยาวะชีวิก ดังนี้
๑.ยาวะกาลิก หมายถึง อาหารทุกชนิดที่พระภิกษุสามารถฉันได้ เช่น ข้าว ข้าวต้ม ขนม ผลไม้ ถั่ว เนื้อสัตว์ต่างๆ เครื่องปรุง น้ำผลไม้ ฯลฯ เป็นต้น เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้วพระภิกษุท่านสามารถฉันได้เฉพาะตอนเช้าไปจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น เช้าในที่นี้คือ เวลาตั้งแต่อรุณสว่างขึ้นมาจนเห็นลายมือชัดเจน และสามารถเห็นใบไม้อ่อน ใบไม้แก่ได้ในระยะ ๓ เมตร ไม่ว่าจะฉันมื้อเดียว หรือ สองมื้อ ถ้าไม่เกินเที่ยงวันก็ไม่ผิดพระธรรมวินัย ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนก็ตามก็ให้เอาเวลาตามประเทศนั้นๆ
๒.ยามะกาลิก หมายถึงน้ำปานะ หรือ เรียกว่า น้ำอัฏฐะบาน ผลไม้ต่างๆที่จะนำมาทำน้ำปานะนั้นจะต้องเป็นผลไม้ที่มีขนาดเล็ก คือ ไม่ใหญ่เกินผลส้มเขียวหวานและให้มีเมล็ด เช่น ลูกหว้า องุ่น ลำไย ส้มเขียวหวาน มะนาว ฯลฯ เป็นต้น
ผลไม้ต่างๆที่นำมา เมื่อจะทำเป็นน้ำปานะจะต้องคั้นและผสมน้ำ แล้วใช้ผ้ากรองอย่างน้อย ๗ ชั้น เพื่อกรองเอาเนื้อผลไม้ออกจนหมด ให้เหลือแต่น้ำ จะผสมเกลือ น้ำตาล หรือ สมุนไพรต่างๆลงไปก็ได้ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับ ผลมะปรางสุก เพราะผลมะปรางสุกเนื้อนิ่ม เนื้อสามารถลอดผ้ากรองไปได้ ถ้าผลมะปรางนั้นยังดิบนั้นใช้ได้ เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้วพระภิกษุสามารถฉันได้ตั้งแต่บ่าย ๑ โมง ไปจนถึงเที่ยงคืนเท่านั้น
๓.สัตตาหะกาลิก หมายถึงสิ่งที่จะถวายให้พระภิกษุและท่านสามารถเก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยแข็ง ช็อกโกแลตที่ไม่ผสมนม ฯลฯ เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้ว พระพุทธองค์ท่านทรงอนุญาตให้เก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน ถ้าหลังจาก ๗ วันไปแล้วห้ามฉัน ถือว่าผิดธรรมวินัย
ในส่วนของน้ำผึ้ง หลังจากที่พระภิกษุรับประเคนและฉันในตอนเช้าแล้ว จะห้ามมิให้นำส่วนที่เหลือมาฉันอีกหลังเที่ยงวัน แต่ถ้าท่านรับประเคนแล้วยังไม่ได้ฉัน ก็สามารถเก็บมาฉันในตอนบ่ายได้ และเก็บไว้ฉันได้ต่ออีก ๗ วัน แต่ถ้าท่านต้องการฉันในช่วงเช้าก็ให้ญาติโยมแบ่งถวายส่วนหนึง อีกส่วนหนึ่งค่อยนำมาถวายในช่วงบ่าย
สำหรับน้ำอ้อย น้ำตาล นั้นเมื่อจะถวายใส่บาตรควรใส่ถุงใส่ห่อ เพื่อไม่ให้ น้ำอ้อย น้ำตาล เปื้อนโดนอาหารในบาตรท่าน หากโดนจะถือว่าเป็นอาหารฉันได้ก่อนเที่ยงเท่านั้น หากใส่ถุงสามารถเก็บไว้ฉันตอนบ่ายและเก็บไว้ได้อีก ๗ วัน
๔.ยาวะชีวิก หมายถึง ยาทุกชนิดที่ปรุงเป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งที่เป็นยาผง ยาเม็ดและยาน้ำ ถ้าหากยานั้นไม่ได้ผสมกับน้ำผึ้ง น้ำตาล น้ำอ้อย ฯลฯ พระภิกษุเมื่อรับประเคนแล้ว สามารถเก็บไว้ฉันได้ตลอดทุกเวลา แต่หากมีญาติโยมหรือสามเณรมาจับ ก็ต้องประเคนใหม่อีกรอบส่วนผลไม้ที่จัดเป็นยาได้แก่ มะขามป้อม ลูกโค้ก สมอไทย สมอจีน ขิง ข่า กระเทียม กระชาย กานพลู รากบัวหลวง เป็นต้น อนุโลมให้จัดเป็นยาได้หมด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น