สติปัฏฐาน ๔ (โดยย่อ)
สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ การตั้งสติสัมปชัญญะ เพียรพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม เพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกให้ได้ในมหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ"
ในการปฏิบัติแยกพิจารณาเป็น ๔ ประการ คือ
(๑) การพิจารณากายในกาย แบ่งออกเป็น ๖ หมวด คือ พิจารณาลมหายใจเข้า ลมหายใจออก (อานาปานสติ) พิจารณาอิริยาบถ ,พิจารณาสัมปชัญญะ ,พิจารณาสิ่งปฏิกูล ,พิจารณาธาตุ ,พิจารณาซากศพ ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
(๒) การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย คือ พิจารณาความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ (อุเบกขา) ในตัวเอง ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนาไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
(๓) การพิจารณาเห็นจิตในจิต คือ พิจารณาจิตของตนให้เห็นสภาวะตามที่ปรากฏในขณะนั้น ๆ และรู้ชัดตามความเป็นจริง ตามสภาวะของจิต เช่น จิตมีราคะก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากราคะ เป็นต้น ตามที่เป็นไปในขณะนั้น ๆ
(๔) การพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ พิจารณาในขณะนั้น ๆ ว่ามีธรรมอะไรเกิดอยู่ในจิตของตน ก็รู้ชัดธรรมนั้น ๆ แบ่งเป็น ๕ หมวด คือ นิวรณ์ ๕, ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒,โพชฌงค์ ๗, อริยสัจ ๔ ว่า คืออะไร เป็นอย่างไร มีตัวตนหรือไม่ เกิดขึ้นเจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้น ๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น