อริยสัจ ๔

 พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ทรงตรัส ไว้ดังนี้ ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโ รธ อริยสัจ ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทาอริยสัจ เพราะเรารู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการนี้ ตามความเป็นจริงชาวโลกจึงเรียกเราว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

 อริยสัจจ์ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐหรือความจริงของอริยะ หรือสัจธรรมที่รู้แล้วจะทำให้กลายเป็นอริยะ

 ๑) ทุกข์ ได้แก่ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์ในรูปของความบีบคั้น ขัดข้อง ติดขัด อัดอั้นต่างๆ บุคคลจะต้องกำหนดรู้หรือทำความรู้จักมัน ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า มันคืออะไร อยู่ที่ไหน และแค่ไหนเพียงไร กล่าวคือ ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง แม้จะเป็นสิ่งที่นึกว่าน่ากลัวไม่เป็นที่ชอบใจ เริ่มต้นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลายที่รวมเรียกว่าโลกและชีวิตนี้ว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งกันเข้า ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงตัว และหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ไม่มีหยุดนิ่ง สิ่งทั้งหลายก็ตาม ชีวิตนี้ที่เรียกตัวเองว่าฉันว่าเราก็ตาม ไม่มีอำนาจในตัวเองเด็ดขาด ไม่เป็นตัวเองโดยสิ้นเชิงที่จะเรียกร้องสั่งบังคับให้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่าตัวเอง ให้เป็นไปตามปรารถนา

 ๒) สมุทัย ได้แก่เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหาเมื่อรู้เท่าทันความทุกข์เข้าใจปัญหาแล้ว ก็สาวหาสาเหตุของทุกข์ หรือต้นตอของปัญหาต่อไปตามหลักแห่งความสัมพันธ์สืบทอดของเหตุปัจจัย หรือตามหลักใหญ่ที่ว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุและจะดับไปเพราะเหตุดับ วิเคราะห์ให้เห็นชัดว่าอะไรบ้างเป็นปัจจัย ปัจจัยไหนเป็นตัวการสำคัญเจ้าบทบาทใหญ่ ปัจจัยเหล่านั้นสัมพันธ์สืบทอดกันมาอย่างไรจึงปรากฏออกมาเป็นรูปปัญหาอย่างนั้น

 ๓) นิโรธ ได้แก่ความดับทุกข์ ภาวะที่สิ้นปัญหาหรือภาวะที่ว่างโล่งปลอดโปร่งจากปัญหา เริ่มด้วยชีวิตที่เป็นอิสระ ไม่ถูกฉุดกระชากลากไปด้วยเส้นเชือกแห่งความอยาก มีจิตใจเบิกบาน ผ่องใส สะอาดสงบ ด้วยความเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

 ๔) มรรค ได้แก่มรรคาอันนำไปสู่ความดับทุกข์ หรือกระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา กล่าวคือ มรรคามีองค์ ๘ ประการ หรือมัชฌิมาปฏิปทาที่กล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง มรรคานี้เป็นระบบจริยธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนา หรือทางดำเนินชีวิตของชาวพุทธ ซึ่งมีปัญญาคือความรู้ความเข้าใจเท่าทันสภาวะของสิ่งทั้งหลาย เป็นพื้นฐานและเป็นแกนนำ ชาวพุทธที่แท้ต้องเจริญก้าวหน้าเติบโตขึ้นเรื่อยไปในวิถีการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

ความคิดเห็น