นิวรณ์ ๕

นิวรณ์ คือ ธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้น หรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ไม่ให้เข้าถึงจิต เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมได้ยาก หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป

กามฉันทนิวรณ์ คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ตัณหา สิเนหา ความเร่าร้อน ความหมกมุ่นในกามทั้งหลาย อันมีราคะเป็นต้น ถ้ามันครอบงําจิตใจผู้ใดแล้ว จิตใจผู้นั้นก็มืดมัวหม่นหมองไม่เห็นเหตุผลอันผิดถูกได้ ชั่วดี บาปบุญได้ เพราะความอยาก ความต้องการอารมณ์หรือวัตถุที่เป็นกามคุณก็ดี ความพึงพอใจความยินดีคลั่งไคล้ในกามอารมณ์ก็ดี

พยาปาทนิวรณ์ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ การร้าย การผูกใจขึ้งเคียดอันมีผลมาจากความโกรธเป็นเจ้าเรือนถ้ามันครอบงําจิตใจผู้ใดแล้ว จิตใจผู้นั้นก็เดือดดาลงุ่นง่านมัวมืดมองไม่เห็นเหตุผลที่ผิดถูกบาปบุญคุณโทษได้เพราะจิตโกรธ ขุ่นเคือง ความรังเกียจ ความเกลียด ความต้องการที่จะเบียดเบียนผู้อื่น ความปรารถนาให้ผู้อื่นฉิบหาย  

ถีนมิทธนิวรณ์ คือ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอย และมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย เซื่องซึม ง่วงนอน ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกายหรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป

อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้

วิจิกิจฉานิวรณ์ คือความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น


 

 

ความคิดเห็น